ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้ภาษาไทลื้อ และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณีต่างๆถิ่นฐานเดิมของชาวไทลื้ออยู่ในสิบสองปันนา แต่ได้มีชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพ หรือ ถูกกวาดต้อนออกจากเมืองเหล่านี้เมื่อประมาณหนึ่งร้อยถึงสองร้อยปีที่ผ่านมา แล้วลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศตอนล่าง เช่น พม่า, ลาว และไทย ประวัติศาสตร์พบว่า ชาวไทลื้อมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชาวล้านนาในอดีต บางส่วนได้อพยพเข้า มาอาศัยอยู่ในหัวเมืองล้านนาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ต่อมาได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในหัวเมืองต่าง ๆ เพิ่มมาก ขึ้น ตามนโยบาย เก็บผักใส่ซ้า (คำว่าซ้า เป็นคำคล้ายกับภาษาล้านนา หมายถึง ตระกร้า ) เก็บข้าใส่เมือง ของเจ้าผู้ครองนครล้านนาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และมี ชาวไทลื้อ อพยพเข้ามาเพิ่มเติมภายหลัง เพื่อติดตามญาติพี่น้อง และเหตุผลทางการเมือง
สังคมของชาวไทลื้อ เป็นสังคมเกษตรกรรมที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ราบใกล้แหล่งน้ำเพื่อทำไร่นา วัฒนธรรมและประเพณีหลายอย่างของชาวไทลื้อ และคนเมืองไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากการแต่งกายผู้ชายจะนุ่งเตี่ยวสะกอ หรือสะดอ (เป้าลึก) มัดตะเข็บหรือเตี่ยวสามดูก ไม่ใส่เสื้อ ต่อมามีการสวมเสื้อม่อฮ่อมแขนยาวถึงข้อมือ มีขอบรอยคอคล้ายเสื้อคอตั้ง ใช้เชือกผูกหรือกระดุมเชือก เสื้อและกางเกงย้อมด้วยสีครามหรือดำ โพกศีรษะด้วยผ้า เมื่อไปวัดจะมีผ้าเช็ดไว้ที่บ่า และถือถุงย่ามแดง ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อมัดรัดรูปผ่าอก มีสาบหน้าเฉียงมาผูกติดกับด้าย หรือใช้กระดุมเม็ดขนาดใหญ่เกี่ยวกันไว้ ตัวเสื้อจะสั้น แขนเสื้อยาว ทรงกระบอกนิยมใช้สีดำหรือสีคราม ตรงสาบเสื้อจะขลิบด้วยแถบผ้าสีต่าง ๆ หรือทำเป็นลวดลาย นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง การวางสีลวดลายซิ่นแบบซิ่นก่าน (ลักษณะของผ้าซิ่นที่มีลวดลายมัดหมี่ ซิ่นดำเติมแทรกด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง) และซิ้นปล่อง (ลักษณะการขัดทอด้วยการเก็บลาย หรือการเก็บมุก) มีลวดลายสลับริ้วสีพื้นช่วงลายขนาดที่เท่ากัน ส่วนผมจะเกล้าเป็นมวยต่อมวย ด้วยการขดปลายผมเป็นรูปวงกลมเรียกว่าจว๊องผม แล้วโพกศีรษะด้วยผ้าขาว หรือผ้าสีชมพู และถือถุงย่าม แต่ที่เห็นได้ชัด คือ ชาวไทลื้อมักจะชอบใส่เสื้อผ้าสีดำ ทั้งชายและหญิง ซึ่งวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทลื้อมีลักษณะคล้ายคลึงกับชาวล้านนา
ศิลปะที่โดดเด่นของชาวไทลื้อได้แก่ งานผ้าทอไทลื้อ นิยมใช้ผ้าฝ้าย ทอลวดลายที่เรียกว่า ลายน้ำไหล ปัจจุบันมีการฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะการทอผ้าแบบไทลื้อในหลายชุมชนของภาคเหนือและสินค้าของคนไทลื้อสามรถที่จะสร้างรายได้และเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายด้วย ศิลปะที่มีความสวยงาม ประณีตและยังคงรักษาไว้ตามบรรพบุรุษ
นอกจากนั้นศิลปะของชาวไทลื้อยังได้รับการถ่ายทอดทางด้านศิลปกรรม จิตกรรมและวรรณกรรม ซึงจะเห็นได้จาก วัด ซึ่งยังคงมีศิลปกรรมและจิตกรรมของชาวไทลื้ออยู่ เช่นจิตกรรมของไทลื้อที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ศิลปะการฟ้อนไทลื้อ และวรรณกรรมที่ยังคงหลงเหลือจากคำบอกเล่าของชาวไทลื้อที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นบทเพลงหรือการขับลื้อ (การขับลื้อจะเป็นการขับโดยใช้ปี่เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ขับเล่าเป็นนิทาน)ซึ่งเป็นวรรณกรรมของชาวไทลื้อที่ยังคงรักษาไว้
ข้อมูลจาก http://www.stou.ac.th/study/sumrit/