ชาวล้านนาในปัจจุบันมีที่มาจากการผสมผสานและดำรงชีพอยู่ร่วมกันมาของชนชาติต่างๆ ในบริเวณแอ่งที่ราบ ที่ถือได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวล้านนา ได้แก่ ชาวไทลื้อ ชาวไทเขิน ชาวไทยวน ชาวไทใหญ่ ชาวเม็ง(มอญ) ชาวลัวะ จากแอ่งที่ราบขึ้นสู่บริเวณภูเขาสูงก็จะพบกลุ่มชนชาติต่างๆ ตั้งหมู่ บ้านกระจายอยู่ทั่วไปตามพื้นที่สูงในดินแดนล้านนา ได้แก่ กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) เมี่ยน(เย้า) ม้ง(แม้ว) อาข่า(อีก้อ) ลาหู่(มเซอ) ลีซอ นอกจากนี้ยังมีชนบางกลุ่มที่อยู่ในบริเวณชายขอบของล้านนา ได้แก่ ขมุ มลาบรี(ตองเหลือง) และยังมีชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกนำตัวเข้ามาจากประเทศพม่าเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว เพื่อจุดประสงค์สำหรับการท่องเที่ยวโดยตรงและยังคงเป็นกลุ่มชนที่ไม่ได้รับการรับรองและสิทธิใดๆ ตามกฎหมายไทย ได้แก่ ปาดอง(กะเหรี่ยงคอยาว)
2.2.1 ไทยวน ชาวไทยวน หรือคนเมืองในกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไต-กะได อาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำปิงในเมืองเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา หลังจากได้อพยพโยกย้ายมาจากเมืองเชียงแสน อันเป็นแหล่งต้นกำเนิดของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยวน และในบางกลุ่มได้อพยพเคลื่อนย้ายไปอยู่ภูมิภาคภาคอื่นๆของประเทศไทยด้วยเหตุผลทางการเมือง การปกครอง และภาวะสงคราม เช่น จังหวัดสระบุรี ราชบุรี นครราชสีมา เป็นต้น
ชาวไทยวนมีเอกลักษณ์ด้านการแต่งกายที่มีความพิเศษ จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายและจิตรกรรมฝาผนัง ทำให้ทราบได้ว่าชาวไทยวน มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แตกต่างไปจากกลุ่มไทอื่นๆ โดยแสดงให้เห็นชัดในเครื่องแต่งกายของสตรีที่เรียกว่า “ผ้าซิ่น” ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายหลักของสตรีในแถบภูมิภาคนี้ ผ้าซิ่นในชีวิตประจำวันของไทยวนส่วนใหญ่เป็นซิ่นที่ประกอบจากผ้าริ้วลายขวาต่อตีนด้วยผ้าสีแดงหรือดำ และต่อหัวซิ่นด้วยผ้าสีขาว สีแดงหรือดำ และอาจจะเป็นผ้าสีเดียวก็ได้ โดยการเย็บเข้าด้วยกัน เรียกซิ่นชนิดนี้ว่า “ซิ่นต๋า” หรือ “ซิ่นต่อตีนต่อเอว”
2.2.2 ไทลื้อ เรียกชื่อตนเองว่า ลื้อ หรือ ลือ หรือ หลื่อ กล่าวว่าไทลื้อมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเขตสิบสองปันนา และได้ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่ยุค เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง จนได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนล้านนาของประเทศไทยในปัจจุบันบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ การแต่งกายและลักษณะบ้านของไทลื้ออาจถือได้ว่าเป็นต้นแบบที่แสดงถึงเอกลักษณ์พื้นเมืองของชาวไทยล้านนาในปัจจุบันแบบหนึ่ง ส่วนคำว่า “ยอง” ซึ่งชาวล้านนาออกเสียงว่า “ญอง” นั้น มิใช่ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เป็นชื่อเรียกเมือง คือ “เมืองยอง” ดังนั้น “ยอง” จึงมิใช่ชื่อเรียกชาติพันธุ์ และเมื่อวิเคราะห์จากการพัฒนาการและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเมืองแล้ว “คนยอง” ก็น่าจะคือคนเผ่าไทลื้อนั่นเอง
2.2.3 ไทใหญ่ จากประวัติความเป็นมาไทใหญ่เป็นสาขาหนึ่งของกลุ่มตระกูลไตหรือไท พวกเขาเรียกตนเองว่า “ไตโหลง” หมายถึง “ไตหลวง” อันเป็นที่มาของชื่อชนชาติที่เป็นทางการว่า “ไทใหญ่” ซึ่งอาจเป็นเพราะชนชาติไทใหญ่ เป็นตระกูลไทกลุ่มใหญ่มากกว่าไทกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากพรมแดนที่แบ่งแยกแคว้นฉานกับล้านนาไทยในอดีตกาลไม่ชัดเจน ไทใหญ่จึงอพยพไปมาระหว่างสองฟากฝั่งแม่น้ำเมยและสาละวิน จนกลายเป็นชุมชนไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน แม้จะต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดมา แต่ไทใหญ่ก็มิได้ละทิ้งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการแต่งกาย และยังคงยึดถือปฏิบัติงานบุญ ประเพณีสำคัญ สืบต่อกันมาได้เป็นอย่างดี
2.2.4 ไทเขิน ไทเขินมีชื่อเรียกตัวเองว่าไทขึน หรือ ไทเขิน คำว่า “ขึน” เป็นชื่อเรียกแม่น้ำสายหนึ่งในเมืองเชียงตุง ประวัติความเป็นมากล่าวถึงการอพยพไทเขินจากเมืองเชียงตุงมาสู่ดินแดนล้านนาไทยเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิละ จนกลายเป็นชุมชนไทเขินในเมืองเชียงใหม่ หลายแห่งด้วยกัน ในปัจจุบันการแต่งกายและการใช้ชีวิตได้ผสมผสานกลมกลืนไปกับไทใหญ่และไทลื้อจนยากที่จะแยกลงไปให้ชัดเจนได้ กล่าวได้ว่าภาษาพูดตลอดจนถึงอักขรวิธีการเขียนของไทเขินนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีการเขียนของชาวไทกลุ่มอื่นเป็นอันมาก ปัจจุบันคนทั่วไปมักจะรู้จักความสวยงามของงานหัตถกรรมเครื่องเขินบริเวณถนนวัวลายมากกว่าที่จะรู้จักไทเขิน ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์งานประณีตศิลป์อันสวยงามชนิดนี้
2.2.5 ลัวะ ชนเผ่าลัวะ หรือ ละว้า (Lua or Lawa) เรียกตัวเองว่า ละเวือะ ตามประวัติความเป็นมา กล่าวว่าลัวะได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มน้ำปิงเมื่อ 1,300 กว่าปีมาแล้ว ถิ่นอาศัย ของลัวะในปัจจุบันมักอยู่บนภูเขาสูงของล้านนาไทย ลัวะมีพิธีกรรมที่สำคัญในรอบปีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันและมีความสัมพันธ์กับความเชื่อในการดำรงชีวิตที่ดีงาม เมื่อเข้าไปเยือนชุมชนลัวะจะมีข้อควรปฏิบัติบางประการที่ควรคำนึงถึงเช่นเดียวกันกับชุมชนของชนเผ่าอื่นๆด้วย