เครื่องทอผ้าของชาวล้านนา ในภาษาท้องถิ่นนิยมเรียกว่า “กี่” หรือ “หูก” สมัยเดิมทีเดียวลักษณะของกี่จะมีรูปแบบง่ายๆ คือ มีไม้สำหรับผูกเส้นด้ายยืนด้านหัวและท้ายจำนวนสองอัน เวลาจะทอจะใช้มือหรือไม้พาดด้ายพุ่งเข้าไปร้อยขัดกับเส้นด้ายยืน ต่อมาได้พัฒนาสร้างที่ยกด้ายเส้นยืนขึ้นลงโดยใช้เท้า และใช้กระสวยเป็นเครื่องมือพุ่งด้ายแต่การพุ่งกระสวยยังคงใช้มือตามปกติ การใช้กี่ทอผ้าแบบนี้ทำให้ได้ผลงานรวดเร็วและทำให้ได้ผ้าหน้ากว้างกว่าเดิม ต่อมาได้มีการพัฒนาเครื่องทอผ้าให้ดีขึ้น และสามารถทอผ้าที่มีคุณภาพมากขึ้นตามลำดับ
สำหรับในพื้นถิ่นล้านนานั้นเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทอผ้า มีชื่อเรียกในภาษาพื้นเมืองล้านนา ดังนี้
- อุปกรณ์ในการเตรียมด้าย ประกอบด้วย
- เครื่องหีด เป็นเครื่องรีดเมล็ดฝ้ายออกจากฝ้ายและรีดฝ้ายให้แตกเป็นเส้นใย
- เครื่องโว้น เป็นเครื่องกรอเส้นด้าย
- ไม้อ้อ เป็นแกนไม้เล็กๆกลางกระสวย ที่สามารถถอดแยกออกจากกันได้ ใช้สำหรับพันด้ายสำหรับทอ
ข. ส่วนประกอบของเครื่องมือทอผ้า หรือ กี่ทอผ้า ประกอบด้วย
- ฟืม เป็นไม้ซี่สำหรับตีกระทบด้ายเส้นนอนเพื่อให้แน่นสนิทติดกัน
- เขาย่ำ สำหรับใส่ด้ายเส้นยืน เขาของกี่พื้นเมืองล้านนาจะมี 1 คู่
- ขอบฟืม เป็นไม้สำหรับให้จับขอบฟืมได้สะดวก
- กระสวย สำหรับบรรจุเส้นด้ายพุ่ง
- ม้านั่ง เป็นที่นั่งในการทอ
- เขารอก ติดระหว่างม้านั่งและเขาย่ำใช้ดึงเขาขึ้น-ลง
- ม้าย่ำ คือ แผงไม้พันด้ายเป็นช่องผ่านของเส้นยืนมายังไม้กำพั่น
- ไม้กำพั่น คือ แกนไม่ข้างหน้าม้านั่ง ใช้ม้วนผ้าที่ทอแล้ว
- เชือกดึง คือ เชือกดึงเขา ม้าย่ำ และเขารอก ไว้กับโครงกี่
กี่ที่พบใช้ในการทอผ้าในล้านนาจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ
ก. กี่เอว กี่ชนิดนี้จะมีวิธีการทอด้วยการมัดด้ายเส้นยืนไว้กับต้นไม้หรือเสาไม้ แล้วดึงมามัดติดกับเอว จากนั้นขึงให้ตึงโดยใช้ตัวคนทอดึงขณะทอ ปัจจุบันพบว่ายังมีการใช้ในชนกลุ่มน้อย เช่น กะเหรี่ยง และม้ง เป็นต้น
ข. กี่ตั้งพื้น หรือ หูก เป็นกี่ที่มีโครงสร้างเป็นไม้ประกอบกันเป็นรูปคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม มีเสาสี่มุม จะเป็นกี่แบบถาวรมีขนาดใหญ่ ด้ายเส้นยืนจะขึงติดกับตัวกี่ พบโดยทั่วไปในกลุ่มไทยวน ไทลื้อ และไทลาว
โดยทั่วไปแล้วในปัจจุบันการทอผ้าจะมีเทคนิคที่เหมือนๆกันในทุกกลุ่ม กล่าวคือ เมื่อม้วนด้ายเข้าผูกกับกี่ แล้วสอดด้ายเข้ากับฟืมผูกกับไม้ทางคนนั่ง แล้วจะเอาไม้สองอันเข้าไปขนาบตรงที่เส้นด้ายไขว้ขัดกัน แล้วดึงด้ายมาเก็บตะกอจนหมด จากนั้นจะผูกตะกอติดกับไม้สำหรับเหยียบให้ตะกอขึ้นลง เมื่อเหยียบตะกอด้วยขาขวา ให้พุ่งกระสวยไปทางซ้าย ถ้าเหยียบตะกอด้วยขาซ้ายให้พุ่งกระสวยไปทางขวา เมื่อพุ่งกระสวยไปมาแล้ว ต้องกระทบฟืม 1-2 ครั้งเสมอ จะทำเช่นนี้จนเสร็จเป็นผืนผ้า