ดินแดนล้านนาหรือภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยนั้น เป็นดินแดนที่พบสิ่งทอหรือผ้าทอแบบพื้นถิ่นพื้นเมืองอยู่ค่อนข้างมากและมีความหลากหลายแตกต่างกัน ทั้งนี้ เนื่องด้วยมีกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ทั้งที่อาศัยอยู่มาแต่โบราณกาล และเพิ่งอพยบเข้ามา โดยมีพื้นที่อาศัยอยู่ทั้งพื้นที่ราบและในเขตภูเขา อาทิ ไทยวน(คนเมือง) ไทลื้อ ไทลาว ไทใหญ่หรือเงี้ยว มอญ ตลอดจนชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ เช่น ม้ง เย้า อีก้อ ลีซอ มูเซอ เป็นต้น ดังนั้น ผ้าทอพื้นถิ่นพื้นเมืองที่พบในดินแดนล้านนาจึงมีรูปแบบ เทคนิค ลวดลาย แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นและลักษณะชาติพันธุ์ของกลุ่มชนเหล่านั้น ซึ่งผ้าทอเหล่านั้นล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ภูมิปัญญา และลักษณะของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์

การทอผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองของล้านนานั้นจะทอขึ้นเพื่อประโยชน์ของการใช้สอยเป็นหลัก ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็นสองประเภทกว้างๆ คือ ประเภทที่หนึ่ง เป็นผ้าทอขึ้นเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน ผ้าประเภทนี้จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับความประณีตงดงามนัก เช่น ผ้าซิ่นที่ชาวบ้านใช้นุ่งทำงาน หรืออยู่กับบ้าน มักทอเป็นผ้าฝ้ายสีเรียบๆ แต่บางท้องถิ่นก็จะทำให้มีสีสันสดใสน่าใช้ก็มี ส่วนผ้าอีกประเภทหนึ่ง เป็นผ้าทอที่ไว้ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น ผ้าสำหรับนุ่งห่มหรือใช้ในงานทำบุญ งานนักขัตฤกษ์ งานเทศกาล และพิธีการสำคัญๆ อาจจะต้องใช้ผ้าที่มีความประณีตงดงามเป็นพิเศษ เพราะการทอผ้าประเภทนี้นอกเหนือจากจะต้องประกวดประชันกันในด้านความประณีตงดงามแล้ว ยังต้องสอดคล้องกับความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมในกลุ่มชนนั้นด้วย ในโอกาสพิเศษเหล่านี้ผู้หญิงมักแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่มีลักษณะพิเศษ ซิ่นอาจเป็นซิ่นตีนจกที่มิเชิงหรือตีนทอเป็นลวดลายและสีสันงดงามเป็นพิเศษ
นอกจาการทอผ้าเพื่อใช้สอยโดยตรงแล้วชาวล้านนายังใช้ผ้าและวัตถุที่ใช้ผ้า คือ เส้นด้าย มาเกี่ยวข้องสนองความเชื่อและงานประเพณีพื้นบ้านของตนด้วย เช่น การใช้ด้ายมาประดิษฐ์เป็นตุงหรือธงใช้ในประเพณีทานตุง หรือแม้ในงานพิธีศพก็ใช้ผ้าดิบสีขาวมาทำเป็นตุงสามหางถือนำหน้าศพ เพื่อที่จะช่วยนำวิญญาณของผู้ตายไปสู่สุขคติได้

     จากหลักฐานที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายๆแห่งในภาคเหนือได้สะท้อนให้เห็นถึงการแต่งกายของชาวล้านนาในสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนังอย่างน้อยจำนวน ๔ แห่ง ซึ่งได้แก่ ที่วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง ซึ่งนับเป็นฐานของงานจิตกรรมล้านนาที่เก่าแก่ที่สุด ประมาณว่าเขียนขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ วิหารวัดภูมินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน และวิหารวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เป็นต้น การแต่งกายของผู้คนที่ปรากฏในภาพจิตกรรมเหล่านั้นทำให้ทราบว่า กษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงจะนุ่งผ้าโจงกระเบนหยักรั้ง ถกสูงขึ้นไปจนเห็นรอยสักที่ขา มีผ้าคล้องคอห้อยไหล่ ไม่สวมเสื้อ หรือสวมเสื้อคอเปิดแขนกระบอก มีทั้งโพกผ้าและไม่โผกผ้า ไว้มวยและทำผมเกล้าโน้มมาข้างหน้าอย่างมอญ ซึ่งรอยสักนั้นผู้ชายชาวล้านนาในอดีตจะนิยมกันมาก การสักในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า สับหมึก คือ การสักยันต์ด้วยหมึกดำเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม โดยสักตั้งแต่เอวลงมาถึงเข่าหรือต่ำกว่าเข่าเล็กน้อย ส่วนผู้ชายชาวบ้านทั่วไปจะนุ่งหนักรั้งไปสูงถึงโคนขาเห็นรอยสักที่ขา มีผ้าคาดเอวปล่อยชายห้อยไว้ข้างหน้า ที่ผ้านุ่งเรียกว่า ผ้าต้อย เป็นลักษณะผ้าผืนสี่เหลี่ยมที่ใช้ผ้าฝ้ายสีพื้น หรือมีลายดำสลับขาที่เรียกว่า ผ้าตาโก้ง ผ้าต้อยมีสองขนาด คือ ขนาดสั้น และขนาดยาว ถ้าขนาดสั้นนิยมนุ่งแบบ เค็ดหม้าม หรือ เก๊นหม้าม คือ ม้วนชายผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาให้รัดกุมแบบเดียวกับนุ่งถกเขมร โชว์ลายสับหมึกให้เห็นชัด ถ้าเผ้นผ้าขนาดยาวก็จะนุ่งแบบโจงกระเบน สำหรับส่วนบนของร่างกายจะเปลือยอก และในเวลามีงานหรือในโอกาสพิเศษจะมีผ้าพาดบ่าที่เรียกว่า ผ้าเช็ด ส่วนในเวลาหน้าหนาวก็จะมี ผ้าตุ๊ม คือ ผ้าฝ้ายทอเส้นใหญ่หนาๆใช้ห่มคลุมตัวกันทั้งหญิงและชาย

     ผู้หญิงชั้นสูงจะนุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า เป็นซิ่นลายขวางลำตัว ตีนซิ่นมีลายตีนจก แต่สำหรับผู้หญิงที่เป็นชาวบ้านทั่วโดยทั่วไปจะนุ่งผ้าซิ่นลายขวางกรอมเท้า เรียกว่า ซิ่นต่อตีนต่อเอว เป็นซิ่นสีพื้น มีลายสีเข้ม เช่น สีแดง สีส้ม และสีดำ เป็นลายขวางสลับเป็นริ้วขวางลำตัว ที่เชิงซิ่นทั้งที่เป็นแถบสีส้ม สีแดงเป็นแถบใหญ่ๆไม่มีลวดลายตีนจก ที่เรียกว่า ซิ่นตำ ผู้หญิงในสมัยโบราณนั้นจะไม่สวมเสื้อ เพราะโดยทั่วไปแล้วการเปลือยอกของผู้หญิงเป็นเรื่องธรรมดาเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่จะมีเพียงผ้าสีอ่อนใช้พันรอบอก หรือใช้ผ้าคล้องคอ ห้อยสองชายลงมาข้างหน้าปิดส่วนอก หรือห่มเฉียงแบบสไบ ที่เรียกว่า สะหว้ายแล่ง หรือ เบี่ยงบ้าย ในเวลาปกติแล้วผู้หญิงจะนุ่งซิ่นต่อตีนสีแดงดำ แต่ในเวลาไปวัดหรือในโอกาสพิเศษจะนุ่งซิ่นต่อตีนหรือเชิงด้วยตีนจกเป็นลวดลายงดงามพิเศษ ลักษณะของตีนจกของชาวไทยวนหรือชาวล้านนาในแต่ละแห่งจะมีลวดลายการเล่นสีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตน เช่น ตีนจกแบบเจ้านายในคุ้ม ตีนจกแบบสันป่าตอง จอมทอง ฮอด ดอยเต่า แม่แจ่ม ตีนจกแบบเมืองลอง ตีนจกแบบลำปาง และตีนจกแบบเมืองน่าน เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งหญิงและชายในสมัยโบราณจะนิยมเจาะหูใส่ ลาน คือ ต่างหูขนาดใหญ่มีลักษณะเป็นกระบอกทำด้วยเงินหรือทองคำม้วน ใช้เสียบเข้า จึงทำให้รูที่เจาะมีขนาดใหญ่ด้วย

     อย่างไรก็ตามการแต่งกายของชาวล้านนาได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากลักษณะพื้นเมืองหรือพื้นถิ่นมากขึ้น เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของล้านนาจากการเป็นประเทศราชมาเป็นมณฑลพายัพในราชการที่ ๕ ได้มีการรับเอาค่านิยม และรูปแบบการแต่งตัวจากภาคกลางและต่างประเทศเข้ามาในหัวเมืองฝ่ายเหนือมากขึ้น ดังนั้น ผู้ชายชาวล้านนาโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในเมืองจะนิยมสวมเสื้อและกางเกง ซึ่งเสื้อที่ใช้นั้นจะเป็นเสื้อคอกลมแบบจีน ที่ชาวไทใหญ่หรือเงี้ยวนำเข้ามา ลักษณะเสื้อของผู้ชายที่เริ่มสวมใส่กันในล้านนายุคแรกนั้น จะเป็นเสื้อคอกลม แขนสั้น หรือแขนยาวต่อแขนต่ำ ผ่าหน้าตลอด ผูกเชือก มีกระเป๋าปะทั้งสองข้าง เย็บด้วยผ้าฝ้ายสีขี้ตุ่น หรือย้อมสีหม้อห้อม อีกแบบหนึ่งคือ เสื้อครึ่งอกติดกระดุมหอยสองเม็ด จะมีกระเป๋าหรือไม่มีก็ได้

     ในส่วนของกางเกงนั้น ผู้ชายจะสวมกางเกงจีนของไทใหญ่ ซึ่งมีลักษณะเป็นกางเกงเป้ายาวทรงหลวม ตัดเย็บจากผ้าฝ้ายสีขี้ตุ่นหรือย้อมสีหม้อห้อม มี ๒ ขนาด คือ ขนาดขาสั้นครึ่งหน้าแข้ง ชาวเชียงใหม่เรียกกันว่า เตี่ยวสะดอ ซึ่งมีความหมายว่า ขนาดกึ่งกลาง และขนาดขายาวถึงข้อเท้า ในปัจจุบันกางเกงแบบนี้ทั้งสองขนาดจะถูกเรียกรวมไปว่า เตี่ยวสะดอ แต่มีบางท้องถิ่น เช่น ที่เมืองน่านเรียกว่า เตี่ยวสามดูก เพราะเย็บสามตะเข็บและที่เมืองแพร่บางทีก็นิยมเรียกกันว่า เตี่ยวกี การแต่งกายของชาวบ้านโดยทั่วไปเวลาทำงานในไร่สวนท้องนาก็จะสวมเสื้อเก่าๆ ที่ย้อมสีดำหม้อห้อมและเตี่ยวสะดอครึ่งแข้ง
ส่วนผู้หญิงก็จะนิยมสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลมหลวมๆ แบบจีน แขนสามส่วน สีอ่อนเหมือนผู้ชาย แต่ยังคงนุ่งซิ่นแบบโบราณอยู่ การใช้สะไบก็จะใส่ทับลงไปบนเสื้ออีกทีหนึ่ง เวลาไปงานพิธี เกล้าผมสูงแบบโบราณ สับหวีทัดดอกไม้แล้วแต่โอกาส

     ต่อมาในสมัยรัชการที่ ๖ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำเอาเสื้อแขนหมูแฮมแบบยุโรปและเสื้อคอยะวามาใช้ในคุ้มเชียงใหม่ ใส่กับซิ่นไหมลายพม่าที่เรียกว่า ซิ่นลุนตยา อะชีค ต่อตีนจกยกดิ้นแบบเชียงใหม่และแบบเชียงตุง เกล้าผมทรงญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่นิยมกันทางยุโรปสมัยนั้น ปักด้วยดอกไม้ไหวทองคำใส่ต่างหูเพชรและเครื่องประดับแบบตะวันตก รูปแบบการแต่งกายเช่นนี้ได้แพร่หลายไปในกลุ่มชนชั้นสูงในมณฑลพายัพเท่านั้น แต่ผู้หญิงชาวบ้านธรรมดายังคงสวมเสื้อคอกลม ซึ่งลักษณะเสื้อของผู้หญิงที่นิยมใส่ในสมัยนี้จะเป็นเสื้อผ้าฝ้ายคอกลม สีขาว ตัวหลวมแขนกระบอกต่อต่ำ ผ่าอกตลอด ผูกเชือกหรือติดมะต่อมแต๊บ (กระดุมแป๊บ) มีกระเป๋าปะทั้งสองข้าง หรือเป็นเสื้อผ่าครึ่งอก ติดกระดุมสองเม็ด เสื้ออีกลักษณะหนึ่งก็คือ เป็นเสื้อรัดรูปเอวลอย แขนสามส่วน คอกลม ผ่าหน้าตลอด ผูกเชือก หรือติดกระดุมผ้าแบบจีบ ในยุคหลังลงมานิยมใช้ผ้าป่านมัสลินตัดเย็บ นอกจากนี้ ยังมีเสื้อลำลองทั่วไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเสื้อเย็บแบบห้าตะเข็บ เย็บแบบพอดีตัว มีกระเป๋าปะ เวลาไปวัดก็นิยมห่มผ้าสะหว้ายแล่งทับเสื้ออีกทีและยังคงนิยมนุ่งซิ่นลายขวางและเกล้าผมแบบเดิมอยู่

     ส่วนผู้ชายที่มีฐานะดีก็จะสวมกางเกงแพรจีนสีต่างๆ หรือแพรปังลิ้น (ผ้าซาติน) ใส่เสื้อคอกลมตัดเย็บด้วยผ้ามัสลินหรือผ้าป่าน ผ่าครึ่งอก ติดกระดุม ต่อแขนต่ำ มีกระเป๋าปะด้านหน้าตรงกลางตัวหรือมีกระเป๋าปะสองข้างก็ได้ สำหรับบรรดาเจ้านายจะนิยมใช้ผ้าไหมเย็บเสื้อ นุ่งโจงกระเบนผ้าไหมหางกระรอก หรือนุ่งเตี่ยวย้งซึ่งเป็นกางเกงเป้ายาวมากแบบเดียวกับกางเกงของชาวเขาเผ่าม้ง ในโอกาสพิเศษสวมเสื้อราชปะแตน สวมหมวกกะโล่ สำหรับผู้ชายพื้นบ้านชาวนาชาวสวนก็ยังคงนุ่งกางเกงและเสื้อเป็นผ้าฝ้าย จะสวมเสื้อสีขาวเวลามีงานพิธีและจะแสดงความคารวะหรือให้เกีตรติอย่างสูงสุดด้วยการแต่ตัวสีขาวทั้งชุดเวลาออกงาน

     ต่อมาการแต่งกายของชาวล้านนาได้มีเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ส่งเสริมให้คนไทยทั่วประเทศแต่งกายแบบสากลนิยม ดังนั้น การแต่งกายของชาวล้านนาจึงเปลี่ยนแปลงมาเป็นดังเช่นทุกวันนี้

สุรพล ดำริห์กุล. ล้านนา สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม. คอมแพคท์พริ้นท์ จำกัด. กรุงเทพฯ: 2542