เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 19 บริเวณภาคเหนือตอนบน ของประเทศไทยซึ่งรวมไปถึง ดินแดนบางส่วนของประเทศพม่า จีน ลาว เคยเป็นที่ตั้งของชนกลุ่มหนึ่งที่มีการปกครองเป็นแคว้นอิสระ ในชื่อที่เรียกกันว่า “ล้านนา” กลุ่มบ้านเมืองกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กันทั้งในทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา ประเพณี และศิลปวัฒนธรรม มีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครอง และมีความเจริญรุ่งเรืองมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 และได้เสื่อมสลายลงและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 แต่ได้พยายามกอบกู้เอกราชได้บ้างเป็นครั้งคราว จนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 ได้ตกเป็นเมืองขึ้นต่อกรุงรัตนโกสินทร์และได้ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยามในพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์อันยาวนานของ ล้านนา ได้หล่อหลอมให้ผู้คนในดินแดนแห่งนี้มีแบบแผนทางศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นของตนเอง มีความแตกต่างไปจากผู้คนในดินแดนอื่น
กว่าจะมาเป็นอาณาจักรล้านนา
ถึงแม้ว่าสภาพภูมิศาสตร์ทางภาคเหนือจะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา มีแม่น้ำใหลผ่าน ทำให้พื้นที่ราบนี้อุดมสมบูรณ์ จึงมีคนเข้ามาอยู่อาศัยมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ จนถึงตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ได้พบว่า มีกลุ่มบ้านเมืองเกิดขึ้นอยู่แล้ว กระจัดกระจายตามที่ราบลุ่มแม่น้ำสายต่างๆซึ่งเกิดเป็นลักษณะแคว้นเล็กๆ แต่ละแคว้นเป็นอิสระต่อกันแต่ส่วนมากจะมีความสัมพันธ์กันลักษณะเครือญาติ และทางการค้า ซึ่งมีแคว้นสำคัญๆดังนี้
แคว้นหริภุญไชย
เป็นกลุ่มบ้านเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง มีเมืองหริภุญไชย(จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน)เป็นศูนย์กลางแคว้น กับที่ราบลุ่มแม่น้ำวังมีเมืองเขลางค์นคร(จังหวัดลำปาง)เป็นส่วนหนึ่งของแคว้น ในฐานะเป็นเมืองลูกลองลงมาจากเมืองหริภุญไชย นอกจากนั้นยังพบหลักฐานของเมืองโบราณที่ปรากฏอยู่รอบๆแคว้นหริภุญไชยอิกหลายแห่ง เช่น เวียงมโน (อยู่ในเขตตำบล หนองตองอำเภอหางดง) เวียงท่ากาน (อยู่ไนเขตตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง) เวียงเถาะ (บ้านสองแคว อำเภอจอมทอง) และพบโบราณวัตถุแบหริภุญไชย อีกหลายแห่ง ในแถบที่ราบเชิงดอยสุเทพ ที่ถ้ำฤาษี วัดดอยคำ บริเวณกลางป่าเขตตำบลสันโป่ง อำเภอแม่ริม และที่เวียงกุมกาม เขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่า แคว้นหริภุญไชยเป็นแคว้นที่ใหญ่และมีความเจริญในยุคนั้น
แคว้นโยนก
เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำกก แม่น้ำลาว แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง โดยเรียกกันว่า ที่ราบลุ่มเชียงราย ซึ่งถือได้ว่าเป็นที่ราบลุ่มที่ใหญ่มากและอุดมสมบรูณ์ จึงมีร่องรอยมนุษย์อาศัยอยู่มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ และมีร่องรอยของคูน้ำคันดินที่เป็นลักษณะของชุมชนโบราณกระจายอยู่โดยทั่วไป ถึง 105 แห่งและมีเรื่องราวที่เป็นตำนานปรัมปราเกี่ยวข้องกับดินแดนนี้หลายฉบับ
แคว้นพะเยา
เป็นเมืองสำคัญตั้งอยู่ที่ราบปลายภูเขา มีชื่อในตำนานว่าภูกามยาว บริเวณรอบๆกว้านพะเยา จากตำนาน อาจกล่าวได้ว่า แคว้นพะเยาอาจเป็นส่วนหนึ่งของ แคว้นโยนก เพราะมีอาณาเขตเชื่อมต่อกับที่ราบลุ่มเชียงราย และ มีโอรสของผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยาง ได้แยกตัวมาตั้งหลักแหล่งที่ภูกามยาวและสร้างเมืองพะเยาขึ้น
แคว้นน่าน
เป็นกลุ่มบ้านเมืองเขตลุ่มแม่น้ำน่าน เดิมเป็นแคว้นอิสระ มีเมืองปัว หรือพลั่ว หรือวรนคร เป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเมืองหลวงพระบางและเมืองสุโขทัย ความสำคัญของแคว้นน่านน่าจะเป็นเพราะพื้นที่ราบลุ่มน้ำสาขาสายเล็กๆ ของแม่น้ำน่านนั้นอุดมไปด้วยแหล่งเกลือธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่ต้องการสำหรับมนุษย์ที่อยู่ห่างไกลทะเล ดังได้พบมีบ่อเกลือทั้งที่เลิกผลิตแล้วและยังคงมีการผลิตอยู่หลายแห่งเช่นที่บ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอปัว จังหวัดน่าน รวมทั้งเสันทางตามลำน้ำยังเป็นเสันทางการค้า ที่สามารถติดต่อกับกลุ่มบ้านเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำโขงและดินแดนในประเทศลาว ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 แคว้นน่านได้ถูกผนวกเข้าไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของแคว้นพะเยา และในเวลาไม่นานก็ได้ต่อสู้จนหลุดพ้นจากอำนาจของเมืองพะเยา ต่อมาอาจจะเนื่องจากการขยายตัวของประชากรมากขึ้น รวมทั้งคงมีการติดต่อค้าขายกับดินแดนตอนใต้เช่น แควันสุโขทัยมากขึ้น จึงได้มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานลงมาตั้งเมืองแห่งใหม่ขึ้นใน พ.ศ.1911 ซึ่งก็คือที่ตั้งในจังหวัดน่านในปัจุบัน ในช่วงเวลาตอนต้นของอาณาจักรล้านนา แม้ว่าเมืองพะเยาจะถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนา แต่เมืองน่านยังคงเป็นแคว้นอิสระ และมีความสัมพันธ์กับแคว้นสุโขทัยอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 21 แล้ว แคว้นน่านจึงได้ถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา
ข้อมูลจาก หนังสือ แผ่นดินล้านนา ของ สุรพล ดำริห์กุล
การก่อตั้งอาณาจักรล้านนา
การก่อตั้งอาณาจักรล้านนาเกิดขึ้น เมื่อพญามังราย กษัตริย์ผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยาง ซึ่งถือได้ว่า เป็นปฐมกษัตริย์ของ อาณาจักรล้านนา ได้ทำการ รวบรวมหัวเมืองต่างๆที่กระจายอยู่และไม่ขึ้นแก่กัน และยกทัพไปตีเมืองต่างๆ ที่อยู่ในแคว้นโยนก เพื่อรวบรวม เข้าไว้เป็นอาณาจักรเดียวกัน ในปีพ.ศ.1805 ได้ทรงสร้างเมืองเชียงราย หลังจากนั้นได้ยกทัพไปตีเมืองต่างๆรวมทั้งแคว้นหริภุญไชย ซึ่งอยู่ในเขตราบลุ่มแม่น้ำปิง ในปีพ.ศ.1812 ยึดเมืองเชียงของได้ ปีพ.ศ.1819 ยกทัพไปตีเมืองพะเยาซึ่งในขณะนั้นพญางำเมืองครอบครองอยู่ แต่ไม่มีการรบเกิดขึ้นและเป็นมิตรไมตรีต่อกัน จึงทำให้แคว้นพะเยาเป็นอิสระ ในปีพ.ศ.1824 สามารถยึดเมืองหริภุญไชยได้ และทรงประทับอยู่ที่เมืองหริภุญไชยเป็นเวลา 2 ปี จึงได้ย้ายมาสร้างเวียงใหม่ขึ้นเป็นที่ประทับ ในปีพ.ศ.1829 ชื่อ เวียงกุมกาม ในขณะที่พญามังรายกำลังเรืองอำนาจอยู่นั้น ก็เป็นช่วงที่ อาณาจักรสุโขทัยซึ่งปกครองโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กำลังเรืองอำนาจอยู่เหมือนกัน แต่ไม่มีการสู้รบกัน เนื่องจาก พญามังราย พ่อขุนรามคำแหง และพญางำเมือง เป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานต่อกัน ในปีพ.ศ.1839 ได้ทรงคิดจะสร้างเมืองแห่งใหม่ขึ้น จึงได้อัญเชิญ พระสหายร่วมน้ำสาบาน มาเลือกทำเล ณ บริเวณ ที่ราบลุ่มเชิงดอยสุเทพ และทรงตั้งชื่อว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ พ่อขุนรามคำแหงทรงมีพระราชปรารภว่า เมืองนี้ข้าศึกจะเบียดเบียนทำร้ายมิได้ คนใหนมีเงินพันมาอยู่เมืองนี้จะมีเงินหมื่น ครั้นมีเงินหมื่นมาอยู่จะมีเงินแสน ส่วนพญางำเมือง ได้ถวายความเห็นว่า เขตเมืองนี้ดีจริง เพราะว่เนื้อดินมีพรรณรังษี 5 ประการ มีชัย 7 ประการ เมืองนี้มีสิทธินักแล ส่วนกำแพงเมืองที่สร้างขึ้น กว้างด้านละ800วา ยาวด้านละ1000วา และถิอได้ว่า เมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนาหลังจากสร้างเมืองเชียงใหม่ได้ไม่นานพยาเบิก ผู้ครองนครเขลางค์ซึ่งเป็นราชบุตรของอดีตผู้ครองแคว้นหริภุญไชย ได้ยกทัพมาเพื่อจะชิงเมืองหริภุญไชยคืน แต่กองทัพเมืองเชียงใหม่รบชนะ และต่อมาสามารถยึดเมืองเขลางค์ ให้ขึ้นตรงต่อเมืองเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นการขยายดินแดนและรวมเอาบ้านเมืองในเขตลุ่มแม่น้ำวังเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา
ข้อมูลจาก หนังสือ แผ่นดินล้านนา ของ สุรพล ดำริห์กุล , สารคดีชุด ถิ่นทองของไทย เชียงใหม่ ของ สมัย สุทธิธรรม
ข้อมูล 8 เมืองถิ่นล้านนา
ประวัติศาสตรเมืองลำพูน
บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงมีชุมชนสำคัญอีกชุมชนหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองและมีวิวัฒนาการสืบต่อกันมาเป็นเวลานานคือ เมืองหริภุญไชย หรือลำพูน มีเอกสารหลายเรื่องที่กล่าวถึงเมืองนี้ ได้แก่ ตำนานลำพูน ตำนานพระธาตุหริภุญไชย จามเทวีวงศ์ ตำนานมูลศาสนา และชินกาลมาลีปกรณ์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาค้นคว้าจากโบราณสถานและโบราณวัตถุ ซากเมืองโบราณต่างๆ เช่น เมืองท่ากาน เวียงมะโน เวียงเถาะ ซึ่งเป็นเมืองบริวารของลำพูน อาจารย์ ร.ศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด ในรายงานเรื่องแคว้นหริภุญไชย : โบราณคดีไทยในทศวรรษที่ผ่านมา หลักฐานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือ ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ได้กล่าวถึงเมืองลำพูน ซึ่งตรงสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถมผู้ปกครองสุโขทัยก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง จาก หลักฐานต่างๆ พอช่วยให้ทราบเรื่องราวของหริภุญไชยได้พอสรุปดังนี้ เมืองนี้ตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นโดย ฤาษี ชื่อ วาสุเทพ เมื่อสร้างเสร็จได้ไปทูลเชิญ พระนางจามเทวีจากเมืองละโว้มาปกครอง ราว พ.ศ. ๑๒๐๐ พระนางได้นำบริวารและพระสงฆ์เสด็จขึ้นมาทางน้ำมาปกครองเมืองหริภุญไชย และมีเชื้อสายของพระนางปกครองสืบมาหลายพระองค์ นับเวลานานถึงหกร้อยปี จนกระทั่งถึงสมัยพระยาบาหรือยีบา
ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่
เมืองเชียงใหม่มีชื่อที่ปรากฏในตำนานว่า”นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนาไทยมาตั้งแต่พระยามังรายได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ นับถึงปัจจุบันมีอายุร่วมเจ็ดร้อยปี และเมืองเชียงใหม่ได้มีวิวัฒนาการสืบเนื่องกันมาในประวัติศาสตร์ตลอดมา เชียงใหม่มีฐานะเป็นนครหลวงอิสระ ปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ประมาณ ๒๐๐ ปี (ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๓๙ – ๒๑๐๑) ในปี พ.ศ. ๒๑๐๑ เชียงใหม่ได้เสียเอกราชให้แก่กษัตริย์พม่าชื่อบุเรงนอง และได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่านานร่วมสองร้อยปี จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงช่วยเหลือล้านนาไทยภายใต้การนำของพระยากาวิละและพระยาจ่าบ้าน ในการทำสงครามขับไล่พม่าออกไปจากเชียงใหม่และเมืองเชียงแสนได้สำเร็จ
ประวัติศาสตร์จังหวัดลำปาง
ลำปางเป็นที่ตั้งเมืองโบราณที่มีความสำคัญของประวัติศาสตร์ และโบราณคดีมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชย คือราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ มีชื่อเรียกในตำนานเป็น ภาษาบาลีว่า”เขลางค์นคร” คำว่า “ลคร” (นคร) เป็นชื่อสามัญของเมืองเขลางค์ ซึ่ง นิยมเรียกกันอย่างแพร่หลาย ปรากฏอยู่ในตำนานศิลาจารึกและพงศาวดารส่วนภาษาพูดโดยทั่วไปเรียกว่า”ละกอน” ดังนั้นเมืองลคร (นคร) จึงหมายถึงบริเวณอันเป็นที่ตั้งของ เขลางค์ ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง ในเขตตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปางในปัจจุบัน ส่วนคำว่า “ลำปาง” ปรากฏชื่ออยู่ในตำนานวัดพระธาตุลำปาง หลวง ซึ่งเรียกเป็นภาษาบาลีว่า”ลัมภกัปปะ” ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
ประวัติศาสตร์จังหวัดเชียงราย
ครั้นพ่อขุนเมงราย ประสูติแล้ว และเมื่อเจริญพระชันษาได้ ๒๑ พรรษา ได้เสวยราชย์ครอบครองสมบัติ ที่เมืองหิรัญนครเงินยาง เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๒ พระองค์ให้เจ้าพระยามหานครทั้งหลายไปถวายบังคม หากเจ้าเมืองขัดขืนก็แต่งตั้งกองทัพออกไปปราบปราม ตีได้เมืองมอบ เมืองไร เมืองเชียง-คำ แล้วปลดเจ้าผู้ครองนครเหล่านั้น แต่งตั้งขุนนางของพระองค์ครองเมืองนั้นแทน ต่อมาหัวเมืองทั้งหลาย เช่น เมืองเชียงช้าง เป็นต้น ก็พากันมาอ่อนน้อมเป็นเมืองขึ้น เพราะเกรงเดชานุภาพ ของพ่อ-ขุนเมงราย เมื่อพ่อขุนเมงรายได้ทรงรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือในอาณาเขตรอบ ๆ ได้แล้ว จีงดำริจะทรงกรีฑาทัพไปแสดงฝีมือในด้านการยุทธต่อหัวเมืองฝ่ายใต้ลงมา จึงไปรวมพล ณ เมืองลาวกู่เต้า เผอิญช้างมงคล (ช้างพระที่นั่ง) ของพระองค์ได้พลัดหายไป พ่อขุนเมงรายจึงเสด็จติดตามรอยช้างไปจนถึงดอยจอมทอง ริมแม่น้ำกก เห็นภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์เป็นชัยภูมิที่ดี จึงให้สร้างเมืองใหม่ขึ้น โดยก่อปราการโอบเอาดอยจอมทองไว้ในท่ามกลางขนานนามเมืองว่า “เมืองเชียงราย”
ประวัติศาสตร์จังหวัดพะเยา
พะเยาเป็นเมืองประวัติศาสตร์ เดิมมีชื่อว่า เมืองภูกามยาว หรือพยาว เคยมีเอกราชสมบูรณ์ มีกษัตริย์ปกครองสืบราชสันตติวงศ์มาปรากฏตามตำนานเมืองพะเยา ดังนี้ จุลศักราช ๔๒๑ พุทธศักราช ๑๖๐๒ พ่อขุนเงินหรือลาวเงิน ราชโอรสของขุนแรงกวา-กษัตริย์ผู้ครองนครเงินยางเชียงแสนมีพระราชโอรส ๒ องค์คือ ขุนจอมธรรมโอรสองค์ที่ ๒ ให้ปกครองเมืองภูกามยาว ซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ แต่ขุนชินให้อยู่ในราชสำนักครองนครเงินยางเชียงแสน ขุนจอมธรรมพร้อมข้าราชการบริวารขนเอาพระราชทรัพย์บรรทุกม้า พร้อมพลช้าง พลม้า ตามเสด็จถึงเมืองภูกามยาว และตั้งรากฐานเมืองใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณเมืองหนึ่ง นามว่า “สีหราช” อยู่เชิงเขาชมภูหางดอยด้วน ลงไปจรดฝั่งแม่น้ำสายตา
ประวัติศาสตร์จังหวัดแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน เดิมเป็นชุมชนบ้านป่า ไม่มีผู้ใดปกครอง คงมีแต่ชาวไทยใหญ่จากชายแดนพม่าเข้ามาอยู่อาศัย ทำมาหากินบ้างเป็นบางฤดู ความสำคัญในสมัยนั้นเป็นเพียงทางผ่านของกองทัพพม่าที่เดินทางเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา หรือหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๗๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ามโหตร-ประเทศ (เจ้าพระยาเชียงใหม่มหาวงศ์) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ประสงค์จะได้ช้างป่ามาฝึกใช้งานจึงบัญชาให้เจ้าแก้วเมืองมาควบคุมไพร่พล หมอครวญพร้อมด้วยกำลังช้างต่อ ออกเดินทางไปสำรวจและคล้องช้างป่าทางด้านดินแดนแถบนี้ เจ้าแก้วเมืองมาเดินทางรอนแรมจากเชียงใหม่ มาถึงที่แห่งหนึ่งทางทิศใต้ริมฝั่งน้ำปาย เห็นว่าทำเลดีและเหมาะสม เพราะเป็นที่ราบมีน้ำท่าบริบูรณ์ ทั้งยังเป็นป่าโปร่ง มีหมูป่าลงกินโป่งชุกชุม เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นหมู่บ้านได้
ประวัติศาสตร์จังหวัดน่าน
ในโบราณสมัยเป็นอาณาจักรเล็กๆ ส่วนหนึ่งในลานนาไทยตั้งอยู่ในอาณาจักรใหญ่ที่มีจำนวนมากกว่า ทางทิศตะวันตกได้แก่ ลานนาไทย ซึ่งมีเชียงใหม่เป็น ราชธานีสำคัญ และพม่าซึ่งอยู่ถัดต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีหลวงพระบางและสิบสองปันนา กับมีอาณาจักรสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาอยู่ทางทิศใต้ ฉะนั้นสภาพการของแคว้นน่านจึงตกอยู่ด้วยเหตุผลว่า ถ้าอาณาจักรใดมีอำนาจมาก แคว้นน่านก็ตกไปอยู่ในอำนาจของอาณาจักรนั้น ที่จะตั้งเป็นเอกราชโดยลำพังตนเองนั้น เท่าที่ปรากฏในประวัติความเป็นมา ที่น้อยที่สุด โดยถูกรั้งกันไปรั้งกันมาอยู่ จนกระทั่งอาณาจักรสยามได้รวบรวมอาณาจักรลานนาไทยทั้งหมดไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ประวัติศาสตร์เมืองแพร่
เมืองแพร่เป็นเมืองโบราณ สร้างมาช้านานแล้วตั้งแต่อดีตกาล แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐาน แน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใดและใครเป็นผู้สร้าง เมืองแพร่เป็นเมืองที่ไม่มีประวัติของตนเอง จารึกไว้ในที่ใดๆ โดยเฉพาะนอกจากปรากฏในตำนาน พงศาวดาร และจารึกของเมืองอื่นๆ บ้างเพียงเล็กน้อย ดังจะกล่าวรายละเอียดในตอนต่อไป จากการศึกษาค้นคว้าและตรวจสอบหลักฐานจากตำนานเมืองเหนือ พงศาวดารโยนก และศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เมืองแพร่น่าจะสร้างยุคเดียวกันกับกรุงสุโขทัย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา น่าน