ผ้ายก คือ ผ้าที่ทอยกลวดลายให้นูนสูงกว่าพื้นผ้า ถ้าลวดลายทอด้วยไหมสามัญเรียกว่า “ผ้ายกไหม” แต่ถ้าลวดลายทอด้วยไหมทองเรียกว่า “ผ้ายกทอง”
หลักสำคัญของการสร้างลวดลายผ้าประเภทนี้ คือ การทอเสริมเส้นด้ายพุ่งพิเศษ ทั้งแบบเสริมยาวต่อเนื่องตลอดหน้าผ้าและแบบเสริมเป็นช่วงๆ โดยใช้วิธีเก็บตะกอลอยเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยจัดกลุ่มเส้นด้ายยืนให้เปิดอ้า หรือยกและข่มเป็นจังหวะ เพื่อทอสอดเสริมเส้นด้ายพุ่งพิเศษตามลวดลายที่ต้องการ ก่อเกิดเป็นลวดลายยกสูงกว่าพื้นผ้า อีกทั้งยังได้นำวิธีการทอแบบอื่นมาใช้ผสมผสานกัน เพื่อตกแต่งลวดลายในส่วนประกอบปลีกย่อยให้เกิดความงามที่สมบูรณ์ อาทิ การทอเสริมเส้นด้ายยืนพิเศษ การมัดย้อมเส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนก่อนการทอ และการทอแบบเส้นด้ายพุ่งไม่ต่อเนื่อง
การนำผ้ายกมาใช้ในสังคมไทย เริ่มจากกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยาและคาบสมุทรภาคใต้ตอนบน มีการใช้แพร่หลายทั้งในกลุ่มผู้เกี่ยวพันกับราชสำนักและในหมู่ราษฎร ทั้งในลักษณะของผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าคาดผ้าเช็ดปาก ฯลฯ โดยได้รับการยกย่องเป็นสิ่งทอพิเศษ และเลือกใช้สอยในโอกาสสำคัญ เพื่อเสริมสร้างสถานภาพทางสังคมและบุคลิกภาพของผู้ใช้สอย รวมทั้งมีจารีตประเพณีประกอบการใช้สอยหลายประการ ต่อมาในราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัฒนธรรมการใช้ผ้ายกตามแบบแผนของกลุ่มชนในบริเวณที่ราบลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยาและคาบสมุทรภาคใต้ตอนบน จึงค่อยแพร่หลายไปสู่สังคมในภูมิภาคอื่น อาทิ ล้านนา และอีสาน โดยการรับเข้าไปผสมผสานกับภูมิปัญญาการทอผ้าของท้องถิ่น เกิดเป็นผ้ายกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและเป็นที่รู้จักในชื่อของผ้ายกล้านนาและผ้ายกอุบล ในสมัยปัจจุบัน ผ้ายกจึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
จัดทำโดย นางสาว กนกวรรณ พุทธวรกุล 53544303001-5