ผ้าไหมยกลวดลายได้เริ่มแพร่หลายตั้งแต่สมัยของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ท่านทรงสนพระทัยในการทอผ้าทรงคิดและประดิษฐ์ทอผ้าลวดลายใหม่ๆ ขึ้นไว้ใช้ โดยทรงนำรูปแบบของผ้ายกทองของราชสำนักภาคกลางมาปรับประยุกต์ทอเป็นรูปแบบของผ้าซิ่นแบบภาคเหนือโดย ได้ฝึกหัดคนในวังให้ทอผ้านำไปถวายเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และทรงใช้เอง

     ส่วนทางลำพูนนั้นเจ้าหญิงส่วนบุญซึ่งเป็นเจ้าแม่ของเจ้าพัฒนาและเจ้าหญิงลำเจียก ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าผู้ครองนครลำพูน ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้านี้จากพระราชชายา จึงได้นำมาฝึกหัดคนในคุ้มหลวงลำพูนและชาวบ้านจนมีความชำนาญแพร่หลาย ครั้นเมื่อเจ้าพงศ์แก้ว ณ เชียงใหม่ ได้สมรสกับเจ้าพัฒนา ณ ลำพูน และได้ย้ายมาอยู่ที่คุ้มหลวงลำพูน ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาการทอผ้าด้วยกี่พื้นเมืองจากเจ้าหญิงส่วนบุญ จนสามารถเป็นผู้สืบทอดการทอผ้ายกดอกที่เก่าแก่สวยงาม และยังได้เปิดโรงงานทอผ้าขนาดย่อมขึ้นในคุ้มหลวงลำพูน ยังได้ฝึกสอนชาวบ้านให้หัดทอผ้าฝ้ายยกดอกและผ้าไหมยกดอกไว้ใช้ภายในครอบครัว จนมีความชำนาญแล้วออกไปประกอบอาชีพอยู่กับบ้าน จนแพร่หลายไปทั่ว จังหวัดลำพูน

     การทอผ้ายกดอกของชาวยองใน จ.ลำพูน นั้น อาศัยฝีมือ อุปกรณ์และทักษะพื้นฐานของการทอผ้าแบบพื้นเมือง การทอผ้ายกนั้นใช้เทคนิคการขิด (Continuous Supplementary Weft) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ชาวไทยองคุ้นเคยและทอสืบทอดกันมานาน เหมือนกับการทอลายขิดผ้าหลบ ด้วยเทคนิคการทอผ้าที่คุ้นเคย แต่ปรับเปลี่ยนลวดลายและวัสดุให้ดูหรูหรามากขึ้น ผู้หญิงชาวไทยอง บริเวณ ตำบลเวียงยอง บ้านยู้ บ้านหลวย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดการทอผ้ายกดอกมาจากคุ้มหลวงลำพูน จึงสามารถทอผ้ายกดอกได้อย่างงดงาม มีคุณภาพและสร้างชื่อเสียงให้แก่ จ.ลำพูนจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วประเทศ