ดินแดนล้านนามีความแตกต่างของผ้าทอตามลักษณะของวัฒนธรรมในแต่ละชาติพันธุ์ ซึ่งผ้าทอเหล่านั้นล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ภูมิปัญญา และลักษณะของแต่ละชาติพันธุ์ อย่างไรก็ดี ความแตกต่างของผ้าทอต่างๆ เหล่านั้น ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับเทคนิคที่ใช้ในการทอผ้า ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในผ้าทอพื้นถิ่นแต่ละชนิด จะขอกล่าวถึงเทคนิคการทอผ้าแบบต่างๆ ที่พบมีใช้อยู่ในดินแดนล้านนาดังต่อไปนี้

         2.4.1 ยกดอก (Twill and Satin Weaves) เป็นเทคนิคการทำลวดลายซึ่งเกิดจากการเพิ่มเขาพิเศษสำหรับยกตัวลายบริเวณด้านบนของด้ายยืน เรียกว่า “เขาลอย” เวลาทอจะยกสลับกับเขาลายขัดปกติเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับผืนผ้า ซึ่งจะทำให้ได้ลวดลายเหมือนกันมากกับลวดลายที่เกิดจากเทคนิคการขิด

         ปัจจุบันการทอผ้าไหมยกดอกเป็นที่รู้จักและนิยมกันมาก โดยเฉพาะผ้าไหมยกดอกลำพูน  ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันทั่วไป  การทอผ้าไหมยกดอกของลำพูนมีวิวัฒนาการลวดลายเพิ่มมากขึ้นและได้รับอิทธิพลจากราชสำนักมากขึ้น  ลวดลายบางลวดลายปรับมาจากผ้าโบราณ  หรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่  เพิ่มความวิจิตรบรรจงและงดงามมากขึ้น  แหล่งผลิตที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันได้แก่  โรงทอคุ้มเจ้าหญิงส่วนบุญ  โรงทอของคุณยายบัวผัน  โรงทอห้าจันดี  โรงทอป้าบุญศรี  บุณยเกียรติ  โรงทอผ้าสุวรีย์  และโรงทอผ้าเพ็ญศิริไหมไทย  ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเขตจังหวัดลำพูนทั้งสิ้น

         2.4.2 ขิด (Continuous Supplementary Weft) เป็นเทคนิคการทอผ้าให้เกิดลวดลายโดยการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษ ด้วยวิธีการใช้ไม้แป้นขิดสอดเพื่อเปิดช่องเส้นด้ายยืน หรือเพิ่มเขาพิเศษนอกเหนือจากเขาที่ใช้ทอลายขัดปกติ โดยมักจะเก็บเขาในแนวตั้งทางด้านบนและล่างของชุดด้ายยืน การทอจะทำให้เกิดลวดลายตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า พบมากในผ้าทอของกลุ่มไทลื้อ  ซึ่งจะนิยมทอผ้าฝ้ายด้วยเทคนิค  ขิด  แต่ชาวไทลื้อจะเรียกเทคนิคการทอแบบนี้ว่า  มุก  ซึ่งไม่ได้หมายถึงเทคนิคการทอมุกที่เป็นการทออีกเทคนิคหนึ่ง  การทอผ้าขิดของล้านนาจะนิยมทอด้วยฝ้าย  ผ้าขิดจึงมีเนื้อหนาเหมาะสำหรับใช้ในการตกแต่งและใช้สอยในครัวเรือน  เช่น  ทำหมอน  ผ้าปูโต๊ะ  ผ้าหลบ (ผ้าปูที่นอน)  ผ้าแหลบ (ผ้าปูนั่งหรือนอน)  ผ้าล้อหัวช้าง  ผ้าเช็ด (ผ้าพาดบ่า)  ผ้าห่ม  ผ้าห่อคัมภีร์ หรือนำมาประยุกต์ตัดเป็นเสื้อคลุม  เสื้อกันหนาว  หรือผ้าคลุมในปัจจุบันลวดลายขิดที่เป็นที่รู้จักกันดี  เช่น  ลายงูลอย  ลายหน่วยเครือ  ลายขอเล็ก  ลายขอใหญ่  ลายขอขะแจ๋  ลายกาบ  ลายดอกจัน  ลายนาค  ลายนก  หรือหงส์  ลายช้าง  ลายม้า  ลายคน  เป็นต้น

         2.4.3 จก (Discontinuous Supplementary Weft)  เป็นเทคนิคการทำลวดลายบนผืนผ้าด้วยวิธีการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า ทำโดยใช้ไม้หรือขนเม่น หรือนิ้วมือยกหรือจกด้ายเส้นยืนขึ้น แล้วสอดใส่ด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไป ผ้าจกนิยมทอกันมากในกลุ่มเชื้อสายไทลาว  ไทยวน  และไทโยนก  นิยมทอผ้าหน้าแคบเพื่อนำไปต่อเชิงผ้าซิ่นหรือตีนซิ่น  ดังนั้น  ซิ่นที่ต่อตีนด้วยผ้าจกจึงเรียกว่า  ซิ่นตีนจก  ผ้าจกนี้มีกระบวนการทอยุ่งยากกว่าขิด  เพราะเป็นผ้าที่มุ่งก่อให้เกิดความวิจิตรงดงามทั้งทางด้านลักษณะรูปแบบลวดลาย  และสีสัน  เพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ  ผ้าจกมีทั้งชนิดที่ทอด้วยฝ้ายและทอด้วยไหม  บางแห่งก็ทอทั้งฝ้ายและไหมผสมกัน  เช่น  ใช้ด้ายเส้นยืนเป็นฝ้ายแล้วใช้เส้นพุ่งเป็นไหม  และในแต่ละแถวจะใช้ฝ้ายหรือไหมต่างสีมาจกแทนสีพื้น   เพื่อให้เกิดลวดลายสีสัน  ดอกดวงต่างๆ  ตามที่กำหนดไว้ในลาย

         ผ้าจกแตกต่างจากผ้าขิดตรงที่ผ้าขิดนั้นจะพุ่งด้ายพุ่งหนึ่งเส้นตลอดหน้าผ้าทำให้สีของลวดลายในแถวเดียวกันจะเป็นสีเดียวกัน  ส่วนผ้าจกจะสามารถสอดสีภายในแถวแต่ละแถวได้อย่างอิสระตามต้องการ  จึงทำให้ลายจกมีสีสันสวยงามแพรวพราวมากกว่า แต่ก็ใช้เวลาการทอนานมากกว่าในการเปลี่ยนเส้นสีต่างๆ  ในแต่ละแถวแต่ละลาย  การทอผ้าจกจึงมีความยุ่งยากและใช้ความอดทนในการทอมาก

         2.4.4 มุก (Supplementary Warp Technique)  เป็นเทคนิคการทออีกวิธีหนึ่งซึ่งปัจจุบันใช้กันอยู่น้อยมาก กลุ่มชนที่ยังคงใช้เทคนิคนี้ ได้แก่ ไทแดง และไทพวน ที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาว รวมถึงกลุ่มที่อพยพมาอยู่แถวเมืองเวียงจันทร์ และภาคเหนือของประเทศไทยด้วย วิธีทอจะใช้เทคนิคการเพิ่มเส้นยืนเข้าไปในเนื้อผ้า โดยการเตรียมด้ายเส้นยืนพิเศษไว้ตอนบนของกี่เหนือเส้นด้ายเส้นยืนธรรมดา ลวดลายบนผืนผ้าที่เกิดจากเทคนิคนี้คล้ายกันมากกับลวดลายที่เกิดจากเทคนิคการขิดและจก อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ง่ายถ้าหากเกิดความสับสนในทิศทางของด้ายเส้นยืน

         กลุ่มไทลื้อในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และชาวไทลื้อในเขตจังหวัดน่าน เรียกลวดลายที่เกิดจากเทคนิคการขิดว่า ลายมุก ด้วยซึ่งอาจทำให้สับสนกับลวดลายมุกแบบที่กล่าวมา

         2.4.5 เกาะ หรือ ล้วง (Tapestry Weaving) เทคนิคนี้ทำให้เกิดลวดลายโดยใช้เส้นพุ่งหลายสีพุ่งไปเกี่ยวกันแล้วย้อนกลับไปมาเป็นช่วงๆ  สลับกับการทอด้วยเทคนิคลายขัดธรรมดา  และใช้การเกาะโดยพันรอบเส้นยืนเพื่อยึดเส้นพุ่งในแต่ละช่วงไว้  ชาวไทลื้อในอำเภอเชียงคำ  จังหวัดพะเยา  และอำเภอเชียงของ  จังหวัดเชียงราย  เรียกเทคนิคนี้ว่า  เกาะ  แต่ชาวเมืองน่านเรียกว่า  ล้วง  การทอแบบนี้ทำให้เกิดลายที่มีลักษณะคล้ายสายน้ำไหล  จึงนิยมเรียกว่า  ผ้าน้ำไหล  ซึ่งเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงและถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดน่าน  ผ้าลายน้ำไหลนิยมทอสำหรับเป็นผ้าซิ่น  และสำหรับประยุกต์ตัดเป็นเสื้อผ้าและเครื่องใช้ต่างๆ  นอกจากนี้ยังพบลวดลายน้ำไหลในผ้าของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและชาวลัวะอีกด้วย

         2.4.6 มัดหมี่ (Weft Ikat) ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า lkat ซึ่งมาจากภาษาอินโดนีเซีย มัดหมี่ หมายถึง ลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าจากการมัดลายที่ด้ายพุ่งก่อนนำไปย้อมสี เพื่อทำให้เกิดลวดลายที่ด้ายเส้นพุ่งก่อนนำไปทอเป็นผืนผ้า เทคนิคนี้รู้จักกันกว้างขวางในกลุ่มชนที่เรียกว่า ไทลาว ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณตอนกลางของที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนั้นยังพบว่ามีไทลื้อกลุ่มหนึ่งในจังหวัดน่าน ยังคงใช้เทคนิคมัดหมี่สำหรับผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่ ซึ่งชาวไทลื้อกลุ่มนี้จะเรียกเทคนิคนี้ว่า มัดก่าน หรือ คาดก่าน  มักนิยมทอลายมัดหมี่นี้สลับกับการทอลายขิด ทั้งลวดลายและวิธีการทอแบบนี้จะคล้ายคลึงกับกลุ่มชนไทเหนือที่อาศัยอยู่ในแถบแขวงซำเหนือทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาว